การจัดตั้งสถาบัน
มาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้ “สถานศึกษาอาชีวศึกษาสามารถรวมกันเป็นสถาบันได้ การรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาให้กระทำได้โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและคำนึงถึงการประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง…”
ต่อมาคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) (ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานคณะกรรมการ) ได้ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การรวมและการแยกสถานศึกษาเพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๔ ลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๔ ตามมาตรา ๑๓ โดยมีหลักการสำคัญ ๕ ประการ ดังนี้
๑. ความเป็นเลิศในการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยมีกระบวนการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มผลผลิตและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศให้ได้ระดับมาตรฐานสากล
๒. การกระจายอำนาจไปสู่ระดับปฏิบัติ เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในทุกระดับ มีคุณภาพและประสิทธิภาพเกิดผลสำเร็จแก่ประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษา
๓. ตอบสนองความต้องการการผลิตและการพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค ระดับเทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาชีพให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
๔. การประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีชั้นสูง จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน ในการพัฒนาศักยภาพของการจัดการอาชีวศึกษา
๕. การประกันคุณภาพและการกำกับมาตรฐาน ตามมาตรฐานวิชาชีพในระดับสากล
จากประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงได้ทำการประเมินสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อเข้าร่วมจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา มาตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ จนสามารถเสนอร่างกฎกระทรวงการร่วมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ… ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๕ (สมัยนายวรวัจจน์ เอื้อภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) และประกาศกฎกระทรวงฯ ในราชกิจจานุเบกษา ได้ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ (ศ.ดร.สุชาติ ธาราดำรงเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ)
ประวัติความเป็นมา
สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒ (Institute of Vocational education Northeastern Region 2) ประกอบด้วยสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ๒ (กลุ่มจังหวัดสนุก) สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาในสังกัด ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร วิทยาลัยเทคนิคนครพนม วิทยาลัยเทคนิคบ้านแพง และวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร
สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒ ได้รับการจัดตั้งเป็นผลสำเร็จถูกต้องตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ และในระยะเริ่มแรกได้เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี จำนวน ๕ สาขาวิชา ประกอบด้วย ๑. สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ๒. สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ๓. สาขาวิชาเทคโนโลยีการก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ๔. สาขาวิชาการจัดการสำนักงาน วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร และ ๕. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยเทคนิคบ้านแพง
ประวัติการก่อตั้ง
– ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ประกาศพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๑ ในราชกิจจานุเบกษา
– ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.๒๕๕๑ มีผลบังคับใช้
– ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ นายสมชาย นิลจินดา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ดำเนินการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวจังหวัด ๓ จังหวัด ได้แก่ อศจ.สกลนคร อศจ.นครพนม อศจ.มุกดาหาร เพื่อเตรียมจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันเฉียงเหนือ ๒ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประสานงานการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒
– ๗ – ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ว่าที่พันตรีวานิช สมชาติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนครและคณะ นำเสนอข้อมูลความพร้อมของสถานศึกษาในสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการนครพนม(วิทยาลัยเทคนิคนครพนม ในปัจจุบัน) วิทยาเทคนิคบ้านแพง และวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร เพื่อประกอบการประเมินความพร้อมตามหลักเกณฑ์ เพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ณ สำนักงานคณะกรรรมการการอาชีวศึกษา
– ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายกระทรวงกรรมการสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาแบบกลุ่มจังหวัด ๑๙ สถาบัน
– ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ว่าที่พันตรีวานิช สาชาติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒
– ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑ ดร. มนูญ แก้วแสนเมือง ได้รับแต่งตั้ง เป็นผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒
– ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ – ๑๖ มกราคม ๒๕๖๒ ดร.มงคล เจตินัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒
– ๑๗ มกราคม ๒๕๖๒ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ดร.ประมวล วิลาจันทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคบ้านแพง รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒
– ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ – ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ดร.ชาญทนงค์ บุญรักษา รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒
– ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ – ๔ กันยายน ๒๕๖๕ นายประดิษฐ์ ญาณประเสริฐ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒
– ๕ กันยายน ๒๕๖๕ – ปัจจุบัน นายสถิต สำราญสุข ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒